วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ดนตรีและอาหาร : ความเกี่ยวข้องที่เป็นไปได้

      
                ด้วยความที่ต้องค้นคว้าเรื่อง Ethnomusicology มาทำรายงานส่งอาจารย์ ในปลายอาทิตย์ก่อนจึงไปพบหนังสือเล่มหนึ่งเข้าชื่อว่า “ Ethnomusicology  cook book” จึงได้ยืมจากห้องสมุดมาอ่านที่บ้าน ซึ่งใจว่า พอจะมีเรื่องราวเกี่ยวประวัติของรายวิชาหรือองค์ความรู้อย่างการลงภาคสนามหรืออะไรอื่นๆในทำนองนี้  แต่พอลองเปิดอ่านเข้าจริงพบว่าเป็นการรวบรวมบทความจากนัก Ethnomusicology ที่ลงภาคสนามแล้วจดบันทึกเมนูอาหารเอาไว้ล้วนๆ เท่านั้นแหละก็พับเก็บไว้อ่านต่อในกาลต่อไป เพราะในเวลานี้ต้องรีบเขียนเนื้อหารายงานกับเวลาทำที่น้อยลงไปทุกที แต่ก็ไม่ได้เปล่าประโยชน์จากการที่ได้อ่านในบางส่วนไปอย่างสิ้นเชิง หลังจากพับปิดหนังสือแล้วความคิดที่ว่า ความเกี่ยวพันกันระหว่างการกินและเสียงดนตรีนั้นมีส่วนต่อกันหรือไม่? แล้วถ้าเกี่ยวข้องกันเป็นในลักษณะใด? อันจะต้องนำมาอธิบายจากนามธรรมให้เป็นรูปธรรม ซึ่งอาจจะมีจุดร่วมกันที่จุดใดจุดหนึ่ง ณ ที่ที่สิ่งเหล่านั้นดำรงอยู่ เช่น สุนทรียะ หรือ หน้าที่นิยมทางสังคม เป็นต้น ซึ่งเท่าที่อ่านในบางส่วนก็พบว่านอกจากสูตรอาหารว่าทำอย่างไรแล้วในหนังสือก็ได้กล่าวถึงสิ่งเหล่านี้เช่นกัน

                การกล่าวว่าเกี่ยวข้องกันนั้นดูจะเป็นการพูดที่ค่อนข้างหลักลอยและอธิบายได้ค่อนข้างยาก แต่โดยการกินและดนตรีนั้นเกี่ยวข้องกันอยู่แล้วโดยมีกรอบของวัฒนธรรมมันอยู่เป็นตัวครอบอีกทีหนึ่ง แต่ในในเรื่องที่ว่ารสชาติของการกินที่เกี่ยวข้องกับโทนเสียงของดนตรีนั้นเป็นเรื่องลึกที่ยังต้องศึกษากันต่อไป

                เบื้องต้นความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับการกินนั้นประจักกันดีอยู่แล้ว ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็อย่าง ตามร้านอาหารที่มักมีการเปิดเพลงให้ฟังกันไปเวลาเรานั่งกิน ถ้าไม่เปิดจะเป็นอะไรไหม? ถ้าลองสังเกตดูจะพบว่าเพลงที่เปิดกับอาหารที่ขายในร้านนั้นจะสอดคล้องและไปในแนวทางเดียวกัน เช่น ร้านอาหารญี่ปุ่นก็เปิดเพลงของศิลปินญี่ปุ่น ภัตตาคารแบบยุโรปก็มักจะเปิดเพลงคลาสสิก (ตะวันตก) เป็นต้น สิ่งเหล่านี้บ่งบอกอะไรเราบ้าง สิ่งเหล่านี้กำลังบอกถึงการมีส่วนร่วมของดนตรีในการรับประทานอาหาร ประหนึ่งอาจเป็นสุนทรียภาพของการกินดนตรีทำให้อารมณ์นั้นๆประจักชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้ชื่นใจและกินได้มากขึ้น แม้กระทั่งในผับในบาร์ก็เร้าอารมณ์ชวนให้มึนเมา สนุกสนาน

                แล้วการกินละจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องมีเพลงประกอบ โดยวิถีการกินนั้นถ้าหากมีหลายคนก็มักจะมีการพูดคุยและปฏิสัมพันธ์กันเกิดขึ้น แต่ในกรณีที่กินคนเดียวนั้นคิดว่าภายในสมองนั้นคงมีการคิดอะไรบางอย่างอยู่แล้ว ถ้าเราไปจดจ่อกับอะไรเราก็จะคิดเรื่องนั้น อย่างเช่นในปัจจุบันที่เรามักดูทีวี หรือไม่ก็คิดถึงส่วนประกอบหรือวิธีการทำ ฯ อันจะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาแห่งการกินนั้นเป็นช่วงเวลาแห่งการเพลิดเพลิน การมีสิ่งที่ทำให้มีจุดสนใจหรือกล่อมเกล่านั้นจึงเป็นการยังให้ความสุนทรีนั้นเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

                วัฒนธรรมการฟังดนตรีพร้อมกับการกินนั้นเชื่อมั่นได้อย่างแน่นอนว่าไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในเร็ววันอย่างแน่นอน มีมาตั้งแต่ในอดีตแต่เริ่มต้นเมื่อใดไม่มีใครทราบ เข้าในว่าในทีแรกนั้นน่าจะเกิดขึ้นในกลุ่มชนชั้นสูงในอดีต ด้วยเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงจากชนชั้นสูงที่ส่งอิทธิพลถึงคนชั้นล่างให้เอามาเป็นแบบอย่าง และความพรั่งพร้อมในนักดนตรีที่เลี้ยงไว้ในสถานของตนเอง อนึ่งจะพบว่าดนตรี ณ ตอนนั้นกลายเป็นดนตรีขับกล่อมและเพื่อการฟังไปเสียแล้ว 

                เมื่อมองมาในดนตรีไทยแบบแผนเองก็จะพบว่ามีเพลงที่มีชื่อเกี่ยวข้องกับการกินอยู่ไม่น้อย เช่น นั่งกิน เซ่นเหล้า ที่แสดงอากับกริยา ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือ มีกลุ่มเพลงที่ใช้บรรเลงในการกินอยู่ด้วยเช่นกันเรียกกันว่า เพลงฉิ่งพระฉัน ซึ่งเป็นการนำเพลงประเภทเพลงฉิ่งมาผูกกันเป็นเรื่องยาว ใช้บรรเลงในเวลาที่พระฉันภัตตาหารทั้งเช้าและเพล ซึ่งในปี่พาทย์มอญก็เป็นไปในทางเดียวกัน นั้นแสดงว่ามีการให้ความสำคัญกับการกินของคนในระดับที่เป็นที่นับถือ คนถือว่าสูงอย่างพระราชาพระเจ้าแผ่นดินก็มีการบรรเลงขับกล่อมในการทานอาหารเช่นกัน เหลียวกลับมาที่สามัญชนคนธรรมดากันอีกครั้งแล้วดูดนตรีรอบๆที่ไม่ใช่ดนตรีไทยแบบแผนภาคกลางกันบ้างว่ามีการบรรเลงเวลากินกันบ้างหรือไม่ โดยทั่วไปนั้นไม่พบว่ามีการบรรเลงเพลงเวลาที่พระฉันหรือเวลาใครๆก็ตามกินข้าว นั่นย่อมหมายความว่าขนบการบรรเลงเพลงพระฉันนั้นก็น่าจะได้ขนบมาจากในวัง ดังนั้นการที่มีคนมาบรรเลงดนตรีให้ฟังยามกินข้าวจึงเป็นเรื่องของชนชั้นสูงก่อนแล้วจึงกระจายมาสู่ข้างนอกในภายหลัง

                นอกจากคนอื่นๆบรรเลงให้ฟังยามกินแล้วนั้น การกินเองบรรเลงเองนั้นดูท่าว่าจะมีมานานกว่าและเป็นเรื่องใกล้ตัวด้วยสำนึกที่แสนจะธรรมดา โดยเฉพาะในวงสุรานั้นเห็นได้อย่างชัดเจนว่าดนตรีไปเกี่ยวข้องอย่างไรกับการกิน เมื่อเกิดความสนุกสนานเมามันขึ้นเสียงดนตรีที่ส่งอิทธิพลทางจิตใจของแต่ละคนก็แสดงออกผ่านร่างกายเพื่อรองรับความต้องการในความเมามัน การร้องและการเคาะสิ่งต่างๆเป็นจังหวะจึงเป็นการแสดงออกทางดนตรีในเบื้องต้น อันจะพบได้ตามวงเหล้าทั่วไปแทบทุกวง

                ที่สุดแล้วบทความนี้ก็เป็นการยืนยันถึงความเกี่ยวข้องของสิ่งต่างๆกับดนตรีและมองผ่านมุมมองอื่นๆที่นอกเหนือจากการมองดนตรีผ่านดนตรีเท่านั้น อันจะช่วยให้เห็นภาพและความเป็นไปในโลกได้รอบด้านยิ่งขึ้น

                 
               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น