วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

โนราห์ลงโรง: ดนตรีพิธีกรรมเพื่อการบำบัด

                 เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างมากที่ผมได้ทราบข่าวว่ามีโนราห์ลงโรงที่มะรุ่ย (ตำบลหนึ่งในจังหวัดพังงา)ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากบ้านผมมากนัก ล่าช้าไปหนึ่งวัน เลยทำให้พลาดการเก็บข้อมูลไป แต่ก็เคยเห็นผ่านตามาบ้างเพียงแต่เมื่อก่อนนั้นไม่ได้สนใจอะไรมากนักการเก็บข้อมูลเลยเป็นการบันทึกลงในความทรงจำไม่ได้มี รูป เสียง หรือวีดีโอแต่อย่างใด

                โนราห์ลงโรงมีไม่บ่อยนัก ซึ่งโนราห์ลงโรงนั้นไม่ได้จัดอย่างการแสดงโนราห์ในงานรื่นเริงทั่วๆไปแต่เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมและความเชื่อในการรักษา คือเมื่อบ้านใดมีคนเจ็บไข้ไม่สบายรักษาไม่หายเชื่อกันว่าเป็นการกระทำของผีและสิ่งลี้ลับ จำเป็นจะต้องรักษาโดยพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อก็คือทำพิธีบูชาครูโนราห์และขับเรียกผีบรรพบุรุษให้ช่วยรักษาให้หายจากอาการเหล่านั้น ซึ่งนอกจากการจัดด้วยเหตุข้างต้นแล้วบางบ้านจะเป็นพิธีที่ต้องจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีซึ่งโดยมากจะจัดกันในช่วงเดือนสี่และเดือนสิบเอ็ด (นับอย่างจันทรคติ)

                เมื่อเริ่มพิธีเจ้าบ้านจะต้องเตรียมการต่างๆที่ต้องใช้ในการบูชาครูโนราห์ตามที่กำหนดให้พร้อม การลงโรงแต่ละครั้งเป็นเรื่องที่สำคัญงานหนึ่งไม่ต่างกับงานบุญต่างๆที่เมื่อคนในหมู่บ้านรู้ก็จะมาช่วยกันจัดเตรียมของต่างๆ ที่บ้านที่จะจัดงาน

                เมื่อการตระเตรียมการต่างๆเสร็จเรียบร้อยพิธีกรรมจะเริ่มขึ้นในช่วงประมาณพลบค่ำ โดยพิธีการจะเริ่มหลังจากนักดนตรีไหว้ครูเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดนตรีจะเริ่มบรรเลง ปี่ ทับ โหม่งอย่างวงดนตรีที่อยู่ในการแสดงโนราห์อย่างทั่วไป แต่ต่างกันที่คนขับ (คนร้อง) นั้นจะขับในเนื้อความที่แตกต่างออกไปซึ่งเนื้อความที่ใช้จะเป็นการเชื้อเชิญผีตายายให้มาลงที่คนใดคนหนึ่งในโรงพิธีโดยโรงพิธีนั้นจะมีการว่าคาถาต่างๆไม่ให้ผีอื่นๆเข้ามาได้ ในการลงโรงแต่ละครั้งนั้นจะใช้เวลาค่อนข้างนานโดยขึ้นอยู่กับว่าผีตายายนั้นจะมาลงในผู้มาร่วมพิธีเมื่อใด ดนตรีนั้นจะคอยเร้าไปเรื่อยๆสลับกับการขับเป็นระยะๆ จนเมื่อมีการเข้าทรง (ภาษาถิ่นเรียกว่า ฟัด) เกิดขึ้นที่คนใดคนหนึ่งเจ้างานก็จะเข้าไปถามถึงเหตุของอาการเจ็บป่วยเหล่านั้นพร้อมทั้งวิธีแก้ หลังจากผีออกจากคนทรงก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีทั้งหมด

                ข้อมูลข้างต้นนี้เป็นเพียงข้อมูลที่เขียนมาจากการสอบถามจากผู้ที่เคยพบเห็นและความทรงจำที่ค่อนข้างเลือนลงของผมเท่านั้น ซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนในรายละเอียดบ้าง ซึ่งรายละเอียดของพิธีตามแต่ละท้องที่นั้นก็อาจมีความแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่โดยโครงสร้างแล้วก็จะเป็นอย่างที่กล่าวมาในข้างต้น

                พิธีกรรมในลักษณะนี้พบได้ทั่วไปในอุษาคเนย์ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเชื่อดั้งเดิมของคนในบริเวณนี้ก่อนที่จะรับศาสนาจากที่อื่นๆ ซึ่งผมจะทึกทักไปว่าเป็นดนตรีบำบัดได้รึเปล่าผมก็ยังไม่มั่นใจนักในคำจำกัดความของดนตรีบำบัด แต่ในใจผมก็เอนเอียงไปแล้วว่ามันควรเป็นดนตรีบำบัด ซึ่งคำอธิบายคือ มันเป็นดนตรีบำบัดแบบเอเชียที่เน้นในเรื่องของจิตวิญญาณมากกว่าการกระทำทางกายภาพ การบำบัดนี้เป็นเรื่องของการรักษาใจของคนเพื่อให้สิ่งเหล่านั้นยังผลออกมาทางกาย อันจะพบว่าแตกต่างจากความคิดจากแพทย์แผนปัจจุบันที่มุ่งเน้นไปที่กายภาพมากกว่า เพราะมีความเป็นรูปธรรมที่สามารถพิสูจน์ได้ 

                เมื่อมองวิเคราะห์จากลักษณะพิธีนั้นจะพบว่า ดนตรีนั้นรับใช้พิธีกรรม ดนตรีทำหน้าที่ติดต่อกับผีบรรพบุรุษ โดยคนที่ขับจะขับเนื้อความที่เป็นการเชื้อเชิญเฉพาะผีตายายและขับไล่ผีอื่นๆสลับกับปี่กลองเป็นช่วง เมื่อลองมองไปถึงจุดประสงค์ของพิธีกรรมแล้วจะพบว่ามีจุดประสงหลักๆอยู่สองอย่าง คือ เพื่อการรักษาคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยและการบูชาประจำปีเพื่อให้เกิดความเป็นศิริมงคล ดังนั้นการกล่าวว่าเป็นดนตรีพิธีกรรมเพื่อการบำบัดนั้นดูจะเป็นการเหมาะสมและสมควรจะจัดอยู่ในหนึ่งหมวดหมู่ของดนตรีบำบัดได้ เพราะเป็นการรักษาบำบัดทางใจ    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น