เสียงเพลงบรรเลงด้วยซอและกลองทีตีเป็นจังหวะลอยเข้าหูผมระหว่างนอนหลับอยู่บนบ้าน ด้วยความที่บ้านอยู่ไม่ห่างจากโรงเรียนมากนักทีแรกเข้าใจว่าเป็นเพลงกันตรึมเปิดเพื่อให้นักเรียนทำกิจกรรมกัน ซึ่งไม่ได้ฉุดคิดเลยว่าวันนี้มีการชักพระเพราะเมื่อวานเป็นออกพรรษา เมื่อตื่นมาจึงทราบความตามกระแสแต่ดนตรีก็และแห่ขบวนชักพระก็เลยไปไหนต่อไหนแล้ว แต่ก็อย่างเดิมๆที่เคยเห็นมาทุกๆครั้งนั่นแหละ แต่จะสักแต่ว่าเคยเห็นแต่ก็ไม่ได้สนใจพอสนใจก็ไม่ค่อยได้พบเจอดั่งฟ้าดินกลั่นแกล้ง
ดนตรีในขบวนแห่แบบนี้พบได้ไม่บ่อยนักในสมัยนี้ ความรู้สึกว่าตอนผมเด็กๆจะเห็นบ่อยกว่า ที่กล่าวว่ามีกันตรึมนั้นจริงๆแล้วไม่ไม่ใช้กันตรึมเสียทีเดียวแค่มีความคล้ายคลึงในบางอย่างเท่านั้นเอง วงแบบนี้ผมไม่มั่นใจเหมือนกันว่าจะเรียกว่าวงอะไรดีแต่มันเป็นวงแบบเดียวกับวงที่บรรเลงกับหนังตะลุงและมโนราห์ โดยลักษณะของวงนั้นจะแตกต่างกันไปตามความสะดวกของนักดนตรีที่มีอยู่ ในอดีตที่ผมเคยประสบพบเจอมานั้นจำได้ว่าเป็นวงเต็มอย่างเดียวกับวงหนังตะลงและมโนราห์ มีทั้ง ปี่ ซอ ทับ กลอง โหม่ง (ฆ้องคู่) แกรก และคนขับ (คนร้อง) แต่หลังๆมานี้เริ่มจำนวนคนลดลงด้วยปัจจัยที่ผมไม่อาจทราบได้ จนมาวันนี้ที่รับรู้ได้มีเพียง ซอ โทน และฉิ่ง เท่านั้น ซึ่งจังหวะและเพลงที่เล่นนั้นมีลักษณะสำเนียงอย่างกันตรึม ขาดแต่เพียงการรูดสายซอให้เกิดเสียงยาวเท่านั้นที่ไม่มี
จากวงที่เคยใช้ปี่เป็นหลักถูกปรับให้ใช้ซอแทนนั้นก็สมเหตุสมผลดี ซึ่งจริงๆแล้วหน้าที่ของซอที่เข้ามาประสมอยู่ในวงดนตรีหนังตะลุงและมโนราห์นั้นสามารถทดแทนเสียงปี่ได้ในบางช่วงแต่ก็ไม่ใช่หน้าที่หลัก ซึ่งนอกจากนี้การเข้ามาประสมของซอนั้นเป็นการช่วยสมานเสียงให้เสียงปี่นั้นมีความราบเรียบขึ้น การที่ได้พบความเปลี่ยนแปลงรูปแบบของดนตรีในวันนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงการปรับตัวตามสภาพสังคมและบริบทต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งที่ยื่นยันได้อีกประการถึงการปรับตัวของดนตรีเพื่อดำรงอยู่ในสังคมนั้นก็คือเพลงที่บรรเลง การบรรเลงเพลงที่เป็นที่นิยมและติดหูชาวบ้านทั่วไปอย่างเพลงลูกทุ่งต่างๆนั้นสื่อสารกับชาวบ้านได้ง่ายดายกว่าเพลงที่มีการใช้ทักษะที่ยากซึ่งชาวบ้านฟังไม่รู้เรื่อง ความรับรู้ของชาวบ้านจะเป็นผลไปถึงการว่าจ้างในงานต่อๆไป สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เราเห็นภาพทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับดนตรีว่าแตกต่างไปจากในอดีต ความเข้าใจดนตรีของคนในยุคนี้นั้นต่างกับความเข้าใจของคนในอดีต จะเห็นได้ว่าอิทธิพลของดนตรีที่อยู่ในสังคมนั้นส่งผลต่อความเข้าในดนตรีของกลุ่มคนนั้น ยิ่งดนตรีใดไกลตัวมากเท่าไหร่ความรับรู้และเข้าใจก็ถอยห่างออกไปเท่านั้น ดังในปัจจุบันที่เพลงลูกทุ่งและเพลงป๊อปนั้นมีอยุ่ทั่วไปในสังคมซึ่งอยู่คู่กับค่านิยมและเทคโนโลยี่สามารถเข้าหาชาวบ้านได้มากกว่า ต่างกับดนตรีท้องถิ่นที่อยู่กับพิธีกรรมและความบันเทิงที่ถูกเปลี่ยนค่านิยมไปทำให้ทิศทางที่ถอยห่างกับประชาชนมีมากขึ้น เหตุเหล่านี้จึงสะท้อนออกมาโดยการเปลี่ยนแปลงดนตรีท้องถิ่นเพื่อการอยู่รอดในสังคม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น